อย่าช้า มะเร็งตับ ระวังให้มากก่อนยากจะเยียวยา
มะเร็งตับ เป็นปัญหาสุขภาพที่คร่าชีวิตคนไทยมานานแล้ว ปัจจุบันมะเร็งตับพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สาเหตุสำคัญมาจากไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และการดื่มแอลกอฮอล์ หากตรวจพบช้ามีโอกาสเสียชีวิตภายในไม่กี่เดือน เพราะฉะนั้น วิณพา จึงเล็งเห็นว่าการรู้เท่าทัน หมั่นตรวจเช็ก ดูแลสุขภาพตัวเองและคนใกล้ชิดให้ห่างไกลมะเร็งตับคือสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรทำ
มาทำความรู้จักมะเร็งตับกัน ??
ตับเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยกำจัดสารพิษและของเสีย ผลิตน้ำดีในการย่อยอาหาร ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สร้างและเก็บสะสมแป้งและไขมันเพื่อเป็นพลังงาน รักษาสมดุลในร่างกาย ดังนั้นเมื่อเซลล์บริเวณตับเกิดการแบ่งตัว เพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติ สามารถพัฒนามาเป็นมะเร็งตับ (Liver Cancer) ได้ในที่สุด ซึ่งมักเกิดจากการที่ตับอักเสบพัฒนาไปเป็นตับแข็งและเซลล์ตับแข็งพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งตับ ที่ต้องระวังคือผู้ป่วยโรคมะเร็งตับไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้ เนื่องจากไม่แสดงอาการที่ผิดปกติจนก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่และค่อนข้างยากต่อการรักษา
ต้นเหตุของการเกิดมะเร็งตับ
- ภาวะตับแข็งจากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี
- รับประทานอาหารปนเปื้อน โดยเฉพาะอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ที่พบมากในถั่วลิสง พริกป่นแห้ง
- การได้รับยาหรือสารเคมีบางชนิด เช่น การได้รับฮอร์โมนเพศชายเป็นเวลานาน
- การดื่มแอลกอฮอล์
- โรคเบาหวาน และโรคอ้วน
- ไขมันเกาะตับ
สัญญาณเตือนมะเร็งตับ
- ปวด แน่น เจ็บบริเวณท้องบนด้านขวาและลิ้นปี่ คล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร
- คลำเจอก้อนขนาดใหญ่ใต้ชายโครงด้านขวา
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ
- ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต
- คลื่นไส้ อาเจียน
***หากคุณมีอาการเหล่านี้อย่านิ่งนอนใจนะคะ ควรรีบไปตรวจสุขภาพ หรือปรึกษาแพทย์ทันทีที่มีอาการดังกล่าว***
การตรวจวินิจฉัย
- การตรวจอัลตราซาวนด์ : เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด สามารถมองเห็นก้อนหรือความผิดปกติที่ตับได้ หากตรวจพบก้อน อาจต้องตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามการวินิจฉัยของแพทย์
- การตรวจสารบ่งชี้โรคมะเร็งตับ : ได้แก่ เลือด สารคัดหลั่ง เนื้อเยื่อต่าง ๆ โดยมักจะใช้การตรวจเลือดเพื่อดูค่า AFP (Alpha – Fetoprotein) สารวัดค่ามะเร็งตับที่นิยมใช้ตรวจค้นหาขั้นต้นของโรคมะเร็งตับ หากมีค่า AFP สูงอาจบ่งบอกได้เบื้องต้นว่ามีเซลล์มะเร็งตับ และแพทย์มักให้ตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan : โดยต้องอาศัยการฉีดสารทึบรังสีเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจน วินิจฉัยได้ถูกต้อง แต่วิธีนี้ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตและไม่ควรตรวจบ่อยต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น
- การตรวจ MRI (Magnetic Resonance Imaging) : เป็นการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทำให้เห็นความผิดปกติของตับอย่างชัดเจน ทำให้ทราบผลการตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับที่แน่นอน ข้อดีคือไม่มีสารตกค้างในร่างกาย แต่ไม่สามารถตรวจในผู้ป่วยที่มีการฝังโลหะภายในร่างกาย
- การตัดชิ้นเนื้อตรวจ : โดยแพทย์ใช้เข็มขนาดเล็กสอดเข้าไปที่ตับแล้วทำการตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ วิธีนี้วินิจฉัยมะเร็งตับได้ค่อนข้างแน่นอน
มะเร็งตับอาจไม่ใช่โรคไกลตัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ นอกจากการดูแลสุขภาพด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ การตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำทุกปีคือสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการตรวจไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี รวมถึงเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับได้เป็นอย่างดี...