พรีไบโอติก (Prebiotics) กับประโยชน์ที่ต้องรู้
พรีไบโอติก หลายคนอาจเคยได้ยินว่าอาหารหลายชนิดมีตัวพรีไบโอติกนี้อยู่ ซึ่งช่วยให้สุขภาพของลำไส้และระบบขับถ่ายดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คนอีกจำนวนมากอาจไม่เคยทราบเลยว่าพรีไบโอติกคืออะไร และมีประโยชน์ต่อลำไส้อย่างไรบ้าง วันนี้ วิณพา จะพาทุกคนไปหาความรู้กันค่ะ
พรีไบโอติก คืออะไร ?
พรีไบโอติก(Prebiotics) เป็นสารที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยหรือดูดซึมในระบบทางเดินอาหารได้ โดยสารดังกล่าวเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโพรไบโอติกส์(Probiotics) ซึ่งเป็นแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ในลำไส้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างเป็นปกติ
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติกก็อาจช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ช่วยเรื่องการเผาผลาญ และอาจมีประสิทธิภาพในด้านการต้านโรคบางชนิด เช่น โรคสมองจากโรคตับ โรคอ้วน ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งลำไส้ และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นต้น รวมทั้งอาจช่วยป้องกันภาวะผื่นผิวหนังอักเสบและโรคแพ้อาหารในเด็กทารกได้อีกด้วย โดยพรีไบโอติกมักพบได้ในผักและผลไม้ โดยเฉพาะผักหรือผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนอย่างไฟเบอร์และแป้งต้านการย่อย เช่น กระเทียม หัวหอม ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต ถั่วเหลือง แอปเปิ้ล กล้วย และมะเขือเทศ เป็นต้น
พรีไบโอติกมีกระบวนการทำงานอย่างไร ?
ลำไส้ของมนุษย์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียหลายชนิดที่มีส่วนช่วยในการย่อยอาหารและช่วยส่งเสริมสุขภาพของลำไส้ให้ดีขึ้น เมื่อรับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติกเข้าไป กระบวนการย่อยอาหารจะสร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อโพรไบโอติกส์ในทางเดินอาหารหรือลำไส้ ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ และช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับระบบทางเดินอาหาร
รับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติกอย่างไรให้เหมาะสม ?
การรับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติกเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพนั้น ผู้บริโภคควรเลือกรับประทานอาหารแบบดิบ เนื่องจากการต้มหรือการใช้ความร้อนอาจทำให้ปริมาณพรีไบโอติกในอาหารชนิดนั้นลดลงได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะสามารถรับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติกได้อย่างปลอดภัย แต่ผู้บริโภคบางรายก็อาจเผชิญกับผลข้างเคียงบางอย่างได้เช่นกัน ดังนั้น ก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใด ๆ ที่มีพรีไบโอติก ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับความปลอดภัยก่อนเสมอ
คุณประโยชน์ของพรีไบโอติกประกอบไปด้วย 6 ประการ ดังนี้
- เสริมสร้างการดูดซึมแร่ธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียม จุลินทรีย์ในลำไส้จะผลิตกรดไขมันสายสั้นที่ช่วยดูดซึมแร่ธาตุแคลเซียมและแมกนีเซียม
- ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ช่วยกระตุ้นการทำงานของแมกโครเฟจ(macrophages) ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในทางเดินอาหารดีขึ้น
- ป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหาร ป้องกันอาการท้องเสีย เพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ลดโอกาสการติดเชื้อในลำไส้
- ช่วยดูดซับสารพิษในทางเดินอาหาร ไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และทำให้อุจจาระนิ่ม ขับถ่ายง่าย ปรับสมดุลระบบทางเดินอาหาร ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้
- ช่วยในเรื่องการควบคุมน้ำหนัก ใยอาหารพรีไบโอติกจะถูกหมักด้วยจุลินทรีย์ในลำไส้ เกิดเป็นกรดไขมันสายสั้น กระตุ้นการหลั่งสาร GLP-1 ในกระแสเลือด ทำให้สมองรับรู้ความรู้สึกอิ่มและสบายท้อง
- ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคระบบหัวใจ และโรคหลอดเลือด ช่วยดักจับไขมันและน้ำตาลในทางเดินอาหาร ทำให้ร่างกายดูดซึมไขมันช้าลง
การรักษาลำไส้ให้สมดุล ด้วยการรับประทานพรีไบโอติก หรืออาหารที่ช่วยหล่อเลี้ยงจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง เพราะเมื่อลำไส้มีความสมดุล มีจำนวนจุลินทรีย์ชนิดดีมากกว่าจุลินทรีย์ที่ไม่ดี ระบบทางเดินอาหารจะทำงานได้เป็นปกติ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์พรีไบโอติก เป็นตัวช่วยให้ผู้ที่ทานอาหารจำพวกผักและผลไม้ไม่เพียงพอได้เสริมพรีไบโอติกให้กับร่างกาย