เมลาโทนิน ...ฮอร์โมนที่ทำให้คุณหลับสบายขึ้น
เมลาโทนิน เจ้าฮอร์โมนนี้คือฮอร์โมนอะไร ช่วยให้เราหลับสบายขึ้นจริงหรือไม่แล้วเป็นไปได้อย่างไร เจ้าฮอร์โมนตัวนี้มีประโยชน์อย่างไรต่อร่างกายเรา ตามเรา วิณพา มาอ่านกันเลยค่ะ
ฮอร์โมน “เมลาโทนิน” คืออะไร
เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่จะถูกผลิตโดยต่อมไพเนียลในสมอง ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณกลางสมอง มีขนาดเท่าเมล็ดเท่าถั่ว ขณะที่เรากำลังนอนหลับ มีหน้าที่ในการช่วยปรับนาฬิกาชีวิตของเราให้คงที่ หรือพูดง่ายๆ คือช่วยให้เราง่วงนอนตามเวลาที่เราควรจะนอน และลืมตาตื่นนอนในเวลาที่เราควรจะตื่นนั่นเอง ทั้งนี้กลไกในการทำงานของต่อมดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับแสงสว่าง และอุณหภูมิ โดยฮอร์โมนเมลาโทนินจะเริ่มทำงานตั้งแต่ช่วง 21.00-22.00 น. เราก็จะเริ่มง่วงนิดๆ แต่ถ้ายังถ่างตาต่อไปอยู่เรื่องๆ เมลาโทนินก็จะเริ่มค่อยๆ ทวีพลังมากยิ่งขึ้นในช่วง 02.00 - 04.00 น. หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ลดการทำงานลง จนกระทั่งช่วง 07.00-08.00 น. ก็จะหยุดทำงาน ซึ่งก็เป็นช่วงที่เราควรตื่นนอนพอดีนั่นเอง นอกจากนี้เมลาโทนินยังถูกกระตุ้นให้ทำงานในสภาวะความมืด และจะถูกยับยั้งการทำงานในสภาวะแสงสว่างอีกด้วย เมื่อเราอยู่ในที่มืดนานๆ อย่างโรงภาพยนตร์ หรือท้องฟ้าจำลอง เราจึงง่วง
ประโยชน์ของเมลาโทนิน
เนื่องจากเมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับโดยตรง จึงทำให้ประโยชน์ของฮอร์โมนนี้เกี่ยวข้องกับวงจรการนอนหลับเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันฮอร์โมนดังกล่าวสามารถสร้างขึ้นภายนอกร่างกายด้วยวิธีการสังเคราะห์ และนำมาผลิตเป็นอาหารเสริม หรือยาที่ใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาในการนอนหลับได้ แต่ก็ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยประโยชน์ของเมลาโทนินที่เห็นได้ชัด มีดังนี้
- บรรเทาอาการเจ็ทแลค : อาการนี้เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายไม่สามารถรับตัวกับการเปลี่ยนของเขตเวลา โดยมักเกิดขึ้นเมื่อต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งจะก่อให้เกดอาการเช่น นอนหลับไม่สนิท รู้สึกอ่อนเพลียระหว่างวัน อาหารไม่ย่อย หรือรู้สึกไม่สบายตัว ซึ่งการใช้เมลาโทนินนั้น มีการศึกษาพบว่าสามารถช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้
- รักษากลุ่มอาการนอนหลับผิดเวลา (Delayed Sleep Phase Syndrome) : เป็นความผิดปกติด้านการนอนหลับ ที่ผู้ป่วยจะไม่สามารถนอนหลับได้ก่อนเวลา 2.00 น. และมักมีปัญหาในการตื่นนอนตอนเช้า โดยการใช้อาหารเสริมที่มีฮอร์โมนดังกล่าวร่วมกับการปรับสภาพแวดล้อมในการนอนให้เหมาะสม สามารถรักษาความผิดปกติดังกล่าว และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
- รักษาโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) : โรคนอนไม่หลับเป็นความผิดปกติในการนอนหลับที่พบได้บ่อย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถนอนหลับได้ แต่มีการศึกษาว่า การใช้เมลาโทนินในการรักษาปัญหาอาการนอนหลับสามารถช่วยให้นอนหลับได้ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพในการนอนหลับ และระยะเวลาในการนอนหลับที่ดีมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาในการนอนหลับเนื่องมาจากวัยที่สูงขึ้น การใช้เมลาโทนินก็สามารถช่วยให้นอนหลับได้ดีมากขึ้นเช่นกันขณะที่ผู้ป่วยในวัยเด็กซึ่งมีปัญหาในการนอนหลับ เช่น โรคสมาธิสั้น หรือเด็กที่มีกลุ่มอาการออทิสติก การใช้เมลาโทนินก็อาจช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ก็พบว่าอาจเกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน จึงต้องมีการทำการศึกษาต่อไป
- ช่วยในการรักษาปัญหาสุขภาพอื่น ๆ : มีการพบว่าการใช้เมลาโทนินอาจช่วยรักษาอาการต่างเกิดจากโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคความดันโลหิตสูง แต่ทั้งนี้ก็ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์เหล่านี้ในปริมาณที่น้อย ซึ่งยังต้องทำการศึกษาวิจัยต่อไปเพื่อยืนยันผลเหล่านี้
ทำอย่างไร ฮอร์โมนเมลาโทนินถึงจะทำงานได้อย่างปกติ โดยไม่ต้องใช้ยา
- พยายามนอนหลับพักผ่อนให้เป็นเวลา นอนเวลาเดิมๆ ตื่นเวลาเดิมๆ นับให้ได้อย่างต่ำ 6 ชั่วโมงต่อวัน บางทฤษฎีกล่าวว่า หากทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลา 21 วัน สิ่งๆ นั้นจะกลายเป็นนิสัยที่เราทำได้โดยอัตโนมัติ ลองนอนและตื่นเวลาเดียวกันให้ได้ 21 วันติดดูนะคะ
- ปิดไฟ หรือเปิดเพียงไฟสลัวๆ ขณะนอนหลับ จะช่วยทำให้ฮอร์โมนเมลาโมนินทำงานได้ดีขึ้น
- ทานมะเขือเทศ สับปะรด ส้มและกล้วย หลังมื้อเย็น จะช่วยสร้างฮอร์โมนเมลาโทนินให้กับร่างกายได้
- หากกำลังทานยาแก้ปวด เช่น ยาแอสไพริน หรือยาในกลุ่ม NSAIDS อยู่ เช่น ไดโครฟีแนค : โวลทาเรน ไอบูโพรเฟ่น และ พอนสแตน (ยาแก้ปวดท้องประจำ เดือน) ควรทานหลังมื้ออาหารเย็นทันที อย่าทานก่อนนอน เพราะยากลุ่มนี้ส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินลดลง
- งดอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม