10 พืช ผัก สุดล้ำ..สร้างภูมิคุ้มกัน
ผัก เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรับประทานกันอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เพียงแต่จะทานมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนไป แต่ใครจะรู้ว่ามีพืชผักอยู่ 10 ชนิด ที่สามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายเราได้ดีที่เดียว และในสถานการณ์โควิดแบบนี้ วิณพา จึงถือโอกาสนี้นำ 10 ผักที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันมาฝากทุกคนกันค่ะ
การเลือกรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบจากพืชผักหาได้จากท้องตลาดในปัจจุบัน หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าพืชผักแต่ละชนิดนั้นมีคุณประโยชน์อย่างไรบ้าง ก่อนที่เราจะไปรู้ 10 พืชผักที่เสริมภูมิคุ้มกัน เราไปรู้จักผักว่าตามท้องตลาดเนี๊ยย มีทั้งหมดกี่สีกันน้าา แล้วมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
- สีเขียว : ให้สารคลอโรฟิลล์ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันเซลล์ถูกทำลาย ขจัดฮอร์โมน และช่วยในการต่อต้านโรคมะเร็ง ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งดูอ่อนวัย นอกจากนี้การกินผักใบเขียวเป็นประจำจะช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีอีกด้วยนะ
- สีเหลือง/ส้ม : ผักกลุ่มสีนี้ให้สารลูทีน และ เบต้าแคโรทีน ช่วยรักษาสุขภาพของหัวใจดวงน้อยๆ ของเรา และรักษาดูแลหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไปจนถึงบำรุงสายตา
- สีแดง : มีสารไลโคปีน และ เบตาไซซีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีความสามารถในการต่อต้านอนุมูลอิสระมากกว่าวิตามินอีถึง 100 เท่า และมากกว่ากลูตาไธโอนถึง 125 เท่า โดยสารไลโคปีนช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และผักสีแดงยังอุดมไปด้วยวิตามินซีสูงอีกด้วย
- สีม่วง/น้ำเงิน : มีสารแอนโทไซยานิน กลุ่มนี้ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมองได้อีกด้วย นอกจากนี้สามารถยับยั้งเชื้อที่จะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ
- สีขาว/น้ำตาลอ่อน : ประกอบไปด้วยสารแซนโทน ช่วยลดอาการอักเสบ รักษาระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีกรดไซแนปติก และ อัลลิซิน โดยสารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดไขมันในเลือด ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตและโรคหลอดเลือดหัวใจ
เป็นยังไงกันบ้างคะ พอจะรู้คุณประโยชน์ของผักแต่ละสีไปบ้างแล้วหรือยังเอ่ย?? อยากรู้กันแล้วใช่ไหมคะว่าตามตลาดที่เราเลือกซื้อผักกันทุกวันมีผักชนิดไหนที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคได้บ้างไปดูกันเลยย
- พลูคาว หรือผักคาวตอง ผักท้องถิ่นของประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยด้วย นิยมรับประทานใบสดแกล้มอาหาร โดยเฉพาะอาหารเหนือและอีสาน เช่น ลาบ ก้อยหรือแจ่ว ขณะเดียวกันก็นิยมใช้เป็นยามาอย่างยาวนานแล้ว อาทิ รักษาการอักเสบต่างๆ รักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจต่างๆ อีกทั้งในปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยถึงสรรพคุณของพลูคาวพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์และฟีนอลิก ที่นอกจากมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันแล้ว ยังพบฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัส ทั้งทางตรง และทางอ้อม
- มะกรูด หลายบ้านนิยมใช้เป็นส่วนประกอบในการทำอาหารนั้น มีสรรพคุณทางยาในการต้านทานโรคมากมาย ทั้งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง และหากนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดก็มีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายความเครียด คลายความกังวล นอกจากนี้สามารถใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ด้วยการใช้ผิวมะกรูดสดฝานเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ เติมการบูรหรือพิมเสน 1 หยิบมือ ชงด้วยน้ำเดือด จากนั้นแช่ทิ้งไว้ แล้วนำน้ำที่ได้มาดื่ม 1-2 ครั้ง
- ขิง สารพัดประโยชน์ มีสารอาหารที่ดีมากมายสำหรับร่างกาย เช่น แมกนีเซียม โพแตสเซียม ทองแดง และวิตามินบี 6 ซึ่งขิงนั้นช่วยป้องกันอาการอักเสบในระบบร่างกาย เช่น ข้ออักเสบ และช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากนี้ขิงยังช่วยแก้พิษ ลดบวม ขับลม ซึ่งมีงานวิจัยยุคปัจจุบันที่รองรับสรรพคุณว่าขิงสามารถลดอาการไข้หวัดได้ด้วย
- ไพล ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ และใบของไพลสามารถรักษาอาการหวัดให้ดีขึ้น ส่วนในร่างที่ปวดเมื่อยตามตัว สามารถใช้ไพลเพื่อลดอาการปวดได้ โดยไพลมักจะนำมารักษาในรูปแบบน้ำมันหอมระเหย เพื่อลดการอักเสบต่างๆ
- ใบบัวบก มีฤทธิ์เย็น นิยมรับประทานด้วยการนำมาต้มเป็นน้ำ มีฤทธิ์ลดการอักเสบในช่องปาก ลดการบวม แก้อาการช้ำใน และลดการอักเสบที่ผิวหนังได้ด้วย เพราะมีสาร asiaticoside ที่ช่วยสมานแผลผิวหนัง ทั้งยังมีสรรพคุณมากมาย ทั้งลดความดัน ลดความเครียด บรรเทาอาการอ่อนเพลีย และส่วนช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น
- ผักแพว ผักที่มีลักษณะเฉพาะตัวคือมีกลิ่นหอมฉุน อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย และช่วยในการชะลอวัย อีกทั้งใบผักแพวยังช่วยขับเหงื่อ ทำให้เลือดลมดี และป้องกันมะเร็งได้อีกด้วย หลายๆ คนนิยมใช้เป็นเครื่องเคียง ในแหนมเนือง
- ฝักเพกา เป็นผักที่นิยมจิ้มกินกับน้ำพริก ลักษณะเป็นฝักสีเขียวยาวประมาณ 1 ศอก และในทางการแพทย์ระบุว่าฝักเพกามีสารสกัดฟลาโวนอยด์ที่ได้จากเปลือกต้นเพกา มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ การแพ้ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยชะลอการเสื่อมของเซล์ต่างๆ ในร่างกายอีกด้วย
- ผักเชียงดา พืชผักที่ได้รับความนิยมในการใช้ลดน้ำตาลในเลือด เป็นผักพื้นบ้านทางภาคเหนือ มีชื่อเรียกอย่างหลากหลาย อาทิ ผักเซี่ยงดา เซ่งดา เจียงดา ผักกูด เป็นต้น ส่วนภาคกลางจะเรียกกันว่าผักจินดา โดยข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยว่าผักเชียงดาเป็นผักพื้นบ้านที่มีวิตามินซีสูงและมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก
- ผักคะน้า เป็นผักใบเขียวที่มีวิตามินซีสูงถึง 147 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม หาซื้อง่าย แถมนำมาทำอาหารก็ไม่ยุ่งยาก ส่วนสรรพคุณมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ และเสริมภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้ อีกทั้งวิตามินซีในผักคะน้ายังช่วยบำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณ ด้วยการเสริมสร้างเนื้อเยื่อให้ชุ่มชื้นยิ่งขึ้น
- มะรุม พืชผักพื้นบ้านอีกหนึ่งชนิดที่มีวิตามินซี141 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินซี โปรตีน หรือธาตุเหล็ก โดยประโยชน์ของมะรุม ก็มีทั้งรักษาอาการหวัด ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด บรรเทาอาการปวดตามข้อ บำรุงร่างกาย สายตา ผิวพรรณ และต่อต้านมะเร็ง