กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กับ 4 สัญญาณเตือนที่คุณอาจกำลังเผชิญ
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis, Lower Urinary tract infection) เป็นโรคที่สามารถพบได้กับทุกเพศ ทุกวัย และมักจะพบมากสุดในกลุ่มของคนที่ชอบกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ โรคนี้หลายๆ คนอาจจะคิดว่าไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงอะไร แต่ถ้าหากทุกคนมองข้ามโรคนี้แล้วปล่อยไว้ก็จะสามารถส่งผลทำให้เกิดโรคร้ายแรงตามมาทีหลังได้เช่นกัน ขึ้นชื่อว่า "โรค" แล้วคงไม่ใช่สิ่งที่ส่งผลดีต่อร่างกายของเราเป็นแน่ ดังนั้นทุกคนควรหันมาให้ความสนใจกับสุขภาพใกล้ตัวของเราน่าจะถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรทำในตอนนี้เลยก็ว่าได้ วันนี้เราจึงนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มาฝากทุกคนกันค่ะ
กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ผู้หญิง : โรคนี้สามารถพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะเนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงจะสั้นกว่าท่อปัสสาวะของผู้ชาย และยังอยู่ในทวารหนักซึ่งถือว่าเป็นแหล่งที่เป็นจุดศูนย์รวมของเชื้อโรคมากที่สุด เชื้อโรคต่างๆ จึงสามารถเข้าไปในท่อปัสสาวะของผู้หญิงได้ง่ายกว่า โรคนี้สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ แต่หากเราปล่อยไว้ก็จะทำให้ลุกลามไปยังกรวยไตทำให้อักเสบขึ้นได้และอาจจะส่งผลทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้ด้วย ผู้หญิงเกือบทุกคนมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้นับตั้งแต่วัยเด็ก - วัยสูงอายุ (พบได้สูงในช่วงอายุ 20-50 ปี) และมักจะพบมากสุดในกลุ่มของคนที่ชอบกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ
- ผู้สูงอายุ : ในผู้สูงอายุเราก็สามารถพบได้ เนื่องจากสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศไม่ดีโดยเฉพาะคนที่ป่วยเป็นโรคที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือในผู้ที่ขาดคนดูแลอย่างใกล้ชิด และไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว มักนั่งๆนอนๆ และดื่มน้ำน้อย ปัสสาวะจึงแช่ค้างหรือคั่งในกระเพาะปัสสาวะ เชื้อโรคและแบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้ดี
- ผู้ที่ชอบกลั้นปัสสาวะ : หากพูดถึงเรื่องการกลั้นปัสสาวะหลายคนคงเคยทำ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ดีเพราะเวลาที่เรากลั้นปัสสาวะไว้ในร่างกายของเรานานๆ จะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ ยิ่งปล่อยให้อยู่ในร่างกายของเรานานแค่ไหน เชื้อโรคก็จะยิ่งแพร่พันธุ์มากเท่านั้น
- สตรีมีครรภ์ : ในกลุ่มของสตรีมีครรภ์นี้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น เนื่องจากเมื่ออายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ศีรษะของทารกในท้องกดดันให้เกิดการคั่งของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไม่หมด เกิดปัสสาวะแช่ค้างในกระเพาะปัสสาวะ และก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- ผู้หญิงที่คุมกำเนิดด้วยยาฆ่าอสุจิ (Spermicide) หรือการใช้ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm) : เพราะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและเกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อปากท่อปัสสาวะและปากช่องคลอด ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ผู้ที่ดื่มน้ำน้อย : การดื่มน้ำน้อยทำให้ระบบขับปัสสาวะมีประสิทธิภาพทำงานน้อยลง จึงมีผลทำให้ไม่ค่อยได้ปัสสาวะ ปัสสาวะจึงแช่ค้างอยู่นาน ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี
- ผู้ป่วยที่มีภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ : เช่น ต่อมลูกหมากโต (มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ), ท่อปัสสาวะตีบ, นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งต่อมลูกหมาก, เนื้องอกกระเพาะปัสสาวะ, ก้อนเนื้องอกในช่องท้อง, เนื้องอกมดลูก, มีความผิดปกติทางโครงสร้างของทางเดินปัสสาวะ, ถ่ายปัสสาวะไม่ได้เนื่องจากเป็นอัมพาต เป็นต้น
- ผู้ป่วยเบาหวาน : ซึ่งร่างกายของผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำและจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ก็อาจเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้บ่อย ถ้าหากพบว่ามีอาการของโรคนี้เกิดขึ้นซ้ำซาก ก็ควรตรวจดูด้วยว่าเป็นโรคเบาหวานซ่อนเร้นที่ไม่แสดงอาการอยู่ด้วยหรือไม่
4 สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ปัสสาวะเป็นเลือด : เป็นอาการขณะที่เราปัสสาวะออกมาแล้วปัสสาวะของเราอาจจะมองเห็นด้วยตาเปล่าคือ ปัสสาวะเป็นสีชมพูหรือเป็นเลือด
- ปัสสาวะขุ่น : เวลาเราปัสสาวะปกติคนเราต้องสีใสๆ แต่ถ้าหากปัสสาวะของเราเป็นสีขุ่นแสดงว่า อาจจะเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้
- มีไข้อาจเป็นได้ทั้งไข้สูงและไข้ต่ำ : อาการนี้จะตรวจพบในกลุ่มคนที่เป็นโรคนี้แบบชนิดที่เรื้อรังแล้ว ดังนั้นหากใครมีอาการแบบนี้เกิดขึ้นควรไปพบแพทย์เพราะจะทำให้เรารักษาได้ทัน
- ปัสสาวะบ่อย : เป็นอาการที่เราจะปัสสาวะครั้งละน้อยๆ แต่ปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าปกติ โดยจะมีอาการปวด เบ่ง แสบ เฉพาะตอนใกล้ๆจะสุดปัสสาวะ
วิธีป้องกันการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- เราควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วต่อวัน
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการกลั้นปัสสาวะนานๆ พยายามเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ ไม่นั่งแช่นานๆ
- (สำหรับคุณผู้หญิง) ควรรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ และในการขับถ่ายควรล้าง/เช็ดเมื่ออุจจาระ/ปัสสาวะ จากด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่ควรใช้สเปรย์หรือยาดับกลิ่นตัวในบริเวณอวัยวะเพศเพราะก่อให้เกิดการระคายเคืองเยื่อเมือกของอวัยวะเพศ เพราะจะทำให้เพิ่มโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ไม่ควรแช่อ่างอาบน้ำในการอาบน้ำ เพราะจะทำให้เพิ่มอัตราการเกิดโรคได้ง่ายขึ้น
วิธีรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
การอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
- การติดเชื้อครั้งแรก อาการมักจะดีขึ้นภายในหนึ่งวันหลังจากมีการให้ยาปฏิชีวนะ แต่ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อของผู้ป่วย
- การติดเชื้อซ้ำ อาจต้องทำการประเมินผลดูความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อ
การอักเสบเรื้อรัง
- ทานยา และใช้ยาเหน็บที่ใส่โดยตรงในกระเพาะปัสสาวะ
- วิธีการจัดการที่กระเพาะปัสสาวะเพื่อทำให้อาการดีขึ้น เช่น การยืดกระเพาะปัสสาวะด้วยน้ำ การเป่าลมเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ หรือการผ่าตัด
- การกระตุ้นเส้นประสาทซึ่งใช้คลื่นไฟฟ้าอ่อน ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดกระดูกเชิงกราน และในบางกรณีช่วยลดความถี่ในการปัสสาวะ
การอักเสบในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
- หากมีอาการแพ้สารเคมีบางอย่าง เช่น ครีมอาบน้ำ หรือยาฆ่าเชื้ออสุจิ ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เหล่านั้น อาจช่วยให้อาการดีขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคกระเพาะปัสสาะอักเสบซ้ำในอนาคต
- กรณีเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด มุ่งเน้นไปที่การรักษาอาการปวด มักจะใช้ยาที่ให้ความชุ่มชื้นเพื่อไปกวาดล้างสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคือง หรืออักเสบในกระเพาะปัสสาวะ
เราในนามของ บริษัท วิณพา จำกัด ผู้ผลิตอาหารเสริมที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตมามากกว่า 15 ปี และถือเป็นบริษัทอันดับต้นๆของประเทศ ที่ผลิตอาหารเสริมมาแล้วกว่า 50 แบรนด์ ด้วยทีมงานคุณภาพดี และมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่อยู่ในวงการอาหารเสริมมายาวนานกว่าทศวรรษ เราขึ้นชื่อเรื่องการใส่ใจในทุกกระบวนการผลิตและผ่านการรับรองในระดับโลก เราจึงอยากให้ทุกคนหันมาสนใจในเรื่องของการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น