5 ธัญพืช คุณประโยชน์ไร้โรคภัย ไปกับชีวิตดีๆ
ธัญพืช คือเมล็ดของพืชชนิดต่างๆ ที่นิยมใช้ทำเป็นอาหารมาเนิ่นนาน ได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งวิตามิน แร่ธาตุต่างๆ ให้โปรตีนสูง และมีไขมันดีที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย วันนี้ วิณพา จะพาทุกๆ คนมาดูกันค่ะ
มีงานวิจัยมากมายพูดถึงประโยชน์ของการทานธัญพืช ว่าช่วยบำรุงร่างกายในด้านต่างๆ ช่วยต้านความเสื่อมถอย ช่วยชะลอวัย ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก และลดไขมันในร่างกายได้ โดยธัญพืชพื้นบ้านไทยมีประโยชน์โดดเด่น เพียงแต่การวิจัยคุณค่าทางอาหารและงานวิจัยธัญพืชแบบเชิงลึกนั้น ยังไม่เกิดขึ้นมากนัก จึงทำให้คนส่วนใหญ่หลงลืมธัญพืชแบบไทยๆ ที่ให้ประโยชน์ไป สำหรับธัญพืชไทยดาวเด่นที่หาซื้อได้สะดวก แต่ให้ประโยชน์ไม่ธรรมดาของบ้านเรา
5 ตัวอย่าง ธัญพืชที่มากคุณค่า
1. ลูกเดือย (job's tears)
เป็นธัญพืชประเภทคาร์โบไฮเดรต เป็นพืชพื้นเมืองแท้ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเส้นใยอาหารสูง เป็นพืชตระกูลเดียวกับข้าว มีคุณค่าทางอาหารสูง เพราะมีปริมาณโปรตีน 13.84% คาร์โบ-ไฮเดรต 70.65% ใยอาหาร 0.23% ไขมัน 5.03% แร่ธาตุต่างๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะฟอสฟอรัส ซึ่งช่วยบำรุงกระดูก มีอยู่ในปริมาณสูง รวมทั้งวิตามินเอ ที่ช่วยบำรุงสายตา วิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 โดยเฉพาะวิตามินบี 1 มีในปริมาณมาก ซึ่งช่วยแก้โรคเหน็บชาด้วย นอกจากนี้ ลูกเดือยยังมี กรดอะมิโน มีกรดไขมันจำเป็นชนิดที่ไม่อิ่มตัว เช่น กรดโอเลอิค และกรดลิโนเลอิก รวมแล้วถึง 84%
2. ถั่วแดง (Red Kidney bean)
จัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างหนึ่ง โดยโปรตีนที่ได้จากถั่วแดงนั้นมีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์เลยทีเดียว แถมยังไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย การรับประทานถั่วแดงนอกจากจะให้พลังงานแก่ร่างกายที่สูงแล้ว ยังทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นาน มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย มีธาตุเหล็ก ที่ช่วยบำรุงโลหิต วิตามินบีหลายชนิด และมีแคลเซียมสูง การรับประทานเป็นประจำสามารถช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ป้องกันภาวะกระดูกเสื่อม ป้องกันโรคกระดูกพรุน และแคลเซียมยังมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทและการหดตัวของกล้ามเนื้อ เป็นต้น
3. ถั่วดำ (black bean)
มีสารฟลาโวนอยด์ หรือสารล้างพิษกรัมต่อกรัมสูงที่สุด รองลงมาเป็นถั่วสีแดง น้ำตาล เหลืองและขาวตามลำดับ เพราะในถั่วดำนั้นมีสารสำคัญอย่างแอนโทไซยานินส์ ซึ่งนับเป็นตัวล้างพิษชั้นดี โดยเมื่อเทียบกับการกินถั่วดำในปริมาณเท่ากันกับการกินส้มแล้ว ถั่วดำจะมีปริมาณสารล้างพิษมากกว่าในส้มถึง 10 เท่า เลยทีเดียว คือเทียบได้กับองุ่นและแอปเปิล แต่การทำให้ถั่วดำสุกนั้นก็จะสูญเสียตัวล้างพิษไปบ้าง แต่ก็ยังสามารถล้างพิษให้ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเทคนิคการต้มถั่วดำควรนำมาคั่วเพื่อให้หอม แล้วแช่ในน้ำร้อนจัดทิ้งไว้ 3 ชม. หรือน้ำธรรมดาทิ้งไว้ 1 คืน (หรือประมาณ 6 ชม.) แล้วค่อยนำมาต้ม วิธีนี้จะได้ถั่วต้มที่นุ่ม ไม่กระด้าง
4.ถั่วเขียว (Mung Bean)
เป็นธัญพืชที่สามารถทานได้ตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดและทานในแบบเพาะเป็นต้นอ่อน (ถั่วงอก) ถือเป็นธัญพืชพื้นบ้านไทย ที่นิยมรับประทานมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นส่วนผสมหลักในขนมไทยหลายชนิด ถั่วเขียวมีกลิ่นหอม และมีรสชาติหวานตามธรรมชาติ มีสรรพคุณช่วยดับร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ มีวิตามินเอที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสายตา ช่วยถอนพิษ ลดความดันเลือด ลดระดับน้ำตาล ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน ช่วยกระตุ้นระบบประสาท ลดอาการอักเสบ นอกจากสรรพคุณทางยาที่กล่าวไปแล้ว ในถั่วเขียวยังมีแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินบี แคโรทีน ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส และแคลเซียม
5. รำข้าว (rice bran)
ปลายเมล็ดข้าว หรือที่เรารู้จักกันแล้วว่า จมูกข้าว เป็นแหล่งรวมของวิตามินและเกลือแร่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งถ้าผ่านกระบวนการสกัดและผลิตอย่างมีมาตรฐานแล้ว มีวิตามินอีธรรมชาติ ช่วยให้ผิวยืดหยุ่น เต่งตึง ลดจุดด่างดำ ลดริ้วรอย ทั้งยังเป็นสารต่อต้านสารอนุมูลอิสระ และช่วยชะลอวัย แกมมาโอริซานอล เข้มข้นจากน้ำมันรำข้าวเมื่อผ่านกระบวนการพิเศษ จะให้คุณค่าจากสารต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องผิว ช่วยให้ผิวชุ่มชื่น ต้านการอักเสบ ลดคลอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ทั้งยังปกป้องและลดการตีบตันของหลอดเลือด วิตามินบี-คอมเพล็กซ์ ช่วยในเรื่องบำรุงประสาท เหน็บชา ช่วยระบบเมตาบอลิซึ่ม แร่ธาตุ อาทิ แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส สังกะสี ช่วยเพิ่มพลังงาน เพิ่มการเผาผลาญ เสริมสร้างการเจริญเติบโตของสมอง และยังเพิ่มการทำงานของระบบฮอร์โมน
ทั้งนี้ การบริโภคธัญพืชเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เราควรเลือกธัญพืชที่ยังไม่ผ่านกระบวนการขัดสี เพราะธัญพืชที่ไม่ผ่านกระบวนการผลิตจะมีสารอาหาร มากกว่าธัญพืชที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขัดขาวคุณค่าทางโภชนาการของมันเหลือไม่ถึงครึ่งของข้าวกล้อง โดยแมกนีเซียมในข้าวกล้องจะมีมากกว่าข้าวขัดขาวถึง 70%