ฮอร์โมน สำคัญอย่างไร?
ฮอร์โมน เป็นสารเคมีในร่างกายซึ่งพบในคนทุกเพศทุกวัย ฮอร์โมนมีหลายกลุ่ม หลายชนิด ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีบทบาทความสำคัญที่แตกต่างกันออกไป อาจกล่าวได้ว่า ร่างกายจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้หรือไม่นั้น จิตใจจะเบิกบาน ไม่หดหู่ หรือเครียด นั้นส่วนหนึ่งก็มาจากสมดุลของฮอร์โมนภายในร่างกายด้วย ฮอร์โมนน้อยเกินไปก็ไม่ดี มากเกินไปก็ไม่ได้ ต้องอยู่ในระดับสมดุลจึงจะดีที่สุด วิณพา จำกัด จะพาไปท่องโลกของฮอร์โมนกันค่ะ
ฮอร์โมนคืออะไร?
ฮอร์โมน คือ กลุ่มของสารเคมีที่ถูกปล่อยออกจากเซลล์ แล้วเข้าไปในกระแสเลือดเพื่อให้ไปมีผลต่ออวัยวะหรือเซลล์เป้าหมาย ที่มีตัวรับที่เฉพาะเจาะจงต่อฮอร์โมนนั้นเพื่อให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ
หน้าที่ของฮอร์โมน
หน้าที่หลักๆ ของฮอร์โมนมีหน้าที่ในการสื่อสารระหว่างเซลล์ และควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
“ฮอร์โมน คือ สารที่ร่างกายและเซลล์ใช้สื่อสารระหว่างกัน สมมุติว่าเราต้องการให้ร่างกายเกิดการทำงานของเซลล์หรืออวัยวะต่าง ๆ เช่น การเผาผลาญพลังงาน หรือผลิตในเรื่องของเพศ ผลิตน้ำอสุจิ การมีประจำเดือน ก็จะใช้ฮอร์โมนในการสื่อสาร พยายามให้เกิดฟังก์ชั่น หรือระบบการทำงานต่างๆ ของอวัยวะ”
ประเภทของฮอร์โมน แบ่งได้หลายอย่าง
แบ่งตามสารตั้งต้น หรือองค์ประกอบทางเคมีที่ใช้ในการสร้างฮอร์โมน ได้แก่
- ฮอร์โมนประเภทโปรตีน (Peptide Hormone) เช่น โกรทฮอร์โมน
- ฮอร์โมนประเภทสเตลอยด์ (Steriod Hormone) เช่น ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนคอร์ติซอล
- ฮอร์โมนประเภทเอมีน (Amine Hormone) เช่น ฮอร์โมนไทรอกซิน ฮอร์โมนซีโรโทนิน
แบ่งตามการทำงานของฮอร์โมน ได้แก่
- ฮอร์โมนประเภทเผาผลาญ เช่น ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนอดิโพรเนคติน ฮอร์โมนไทรอยด์
- ฮอร์โมนประเภทสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น ฮอร์โมนไทโมซิน
- ฮอร์โมนเพศ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโปรเจสโตรโรน
อย่างไรก็ตามระดับของฮอร์โมนแต่ละชนิดจะแตกต่างไปในแต่ละช่วงวัย สำหรับผู้หญิง ช่วงอายุ 20-25 ปี ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเพศได้มากที่สุด ส่วนผู้ชาย ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเพศได้มากที่สุดช่วงอายุ 25 ปี ยิ่งอายุมากขึ้นระดับฮอร์โมนก็จะยิ่งลดลงตามลำดับ เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายที่เสื่อมลง รวมทั้งการได้รับปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น การทำงานหนัก การรับมลพิษ ก็สามารถทำให้ระดับฮอร์โมนลดลงได้เช่นกัน
หากฮอร์โมนไม่สมดุลจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ฮอร์โมนมีหลายประเภท หลายชนิด หลายบทบาทหน้าที่ เช่น เสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ช่วยระบบย่อยอาหาร ช่วยกระบวนการเผาผลาญ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างลักษณะประจำเพศ ควบคุมการนอนหลับ ดังนั้นหากระดับฮอร์โมนไม่สมดุลย่อมเกิดปัญหาตามมามากมาย ที่สำคัญ ได้แก่
- ผิวพรรณแห้งกร้าน เล็บเปราะ ผมร่วง
- ดูแก่กว่าวัย สิวเพิ่มมากขึ้น
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- นอนไม่ค่อยหลับ นอนหลับยาก นอนหลับไม่สนิท
- เข้าห้องกลางดึกบ่อยๆ
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
- มีความเครียดสูง หลงๆ ลืมๆ ความจำไม่ดี
- เหนื่อยและอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น
- ความต้องการทางเพศลดลง
เชื่อหรือไม่ว่าแค่ฮอร์โมนไม่สมดุล 1-2 ชนิดก็ก่อให้เกิดปัญหาได้แล้วยิ่งหากฮอร์โมนเสียสมดุลหลายๆ ชนิดและเสียสมดุลเป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่ได้รับการแก้ไข ฟื้นฟู จะส่งผลให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตถดถอยลงเรื่อยๆ บางครั้งอาจนำไปสู่โรคร้ายที่คุณคาดไม่ถึง เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจขาดเลือด